Racism

Racism หรือคำว่า “เหยียด” ในยุคปัจจุบันมักถูกใช้ไปในความหมายว่า เหยียดหยาม ดูถูก ดูหมิ่น ทำให้คนที่โดนเหยียดถูกด้อยค่าลง หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี การเหยียดนั้นตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่หลายคำด้วยกัน แต่ในบทความของ Workspacez นี้จะกล่าวถึงการเหยียดคนอื่นแบบเป็นกลุ่มซึ่งจะตรงกับการเหยียด 2 ประเภท ดังนี้

1. Stereotype หมายถึง การตัดสินคนอื่นแบบเหมารวมเป็นกลุ่ม ยกตัวอย่างจากงานวิจัยของนักจิตวิทยา Susan Fiske ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Princeton และนักศึกษาปริญญาโท Cydney Dupree ที่พบว่า แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในศูนย์ child care เป็นอาชีพที่คนมักตัดสินว่าเป็นอาชีพที่มีความสามารถสูง มีลักษณะอบอุ่น เป็นห่วงเป็นใย เป็นอาชีพที่คนให้ความสำคัญ มีหน้ามีตาในสังคม ผู้คนรับรู้ถึงความภาคภูมิใจและความชื่นชม เต็มไปด้วยทัศนคติด้านบวก ในขณะที่ พนักงานล้างจาน คนเก็บขยะ คนขับรถแท็กซี่ ผู้คนได้เลือกจัดอันดับว่ามีลักษณะนิสัยที่ไม่เป็นมิตร มีทัศนคติด้านลบ ให้ความรู้สึกดูถูกหรือโดนรังเกียจโดยคนส่วนใหญ่ นั่นอาจแปลว่า ผู้คนส่วนมากมักสรุปว่าอาชีพที่ไม่ได้มีรายได้สูง คืออาชีพที่ไม่ได้ใช้ความสามารถมากนัก เป็นต้น

2. Prejudice and discrimination หมายถึง อคติและการเลือกปฏิบัติ โดยคนบางกลุ่มอาจจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปเพราะถูกตัดสินด้วยอคติ ซึ่งความคิดและอารมณ์ของบุคคลจะส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น หากเรามีความเชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่งไม่ดี เราก็มักจะปฏิบัติกับคนกลุ่มนั้นไม่ดีไปด้วย ทำให้การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในสังคม ตัวอย่างเช่น การปฏิเสธไม่รับคนเข้าทำงานเนื่องจากฝ่ายบุคคลมีมุมมองว่าคนที่เป็น LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่มีอารมณ์รุนแรงหรือยังมีความเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิตใจ หรือบางสถานประกอบการอาจมีอคติต่อคนที่จบการศึกษามาจากบางแห่งว่าความสามารถไม่ถึง หรือ มีนิสัยหยิ่งยโสเข้ากับใครไม่ได้ เป็นต้น

ทำไมคนเราถึงเหยียดกัน?

จากทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory)1 ได้กล่าวถึงการสร้างความเป็นคนใน (In-group) และความเป็นคนนอก (Out-group) ขึ้นมา โดยมาจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเองอย่างรวดเร็วของคนเราที่มักจะเกิดความรู้สึกเห็นใจ ชอบ และรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันกับคนที่เป็นคนใน ยกตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันวอลเล่ย์บอลไทย vs ตุรกี ก็จะมีโอกาสน้อยมากหรือไม่มีโอกาสเลยที่คนไทยจะเลือกเชียร์ทีมตุรกี เป็นต้น ความรู้สึกอคติแบบคนใน-คนนอก มักนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และเป็นจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้ง (Bullying), การเหยียดเชื้อชาติ (Racist) เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะแสดงออกในทางบวกกับสิ่งที่เรามองเป็น In-group มากกว่าสิ่งที่เรามองว่าเป็น Out-group นั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ปัจจัยทางด้านสังคมวัฒนธรรมถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมากทีเดียว โดยจากการศึกษาของ Fiske พบว่า หากสังคมวัฒนธรรมนั้น ๆ ไม่มีบรรทัดฐานทางสังคมว่า “ชาติเรายิ่งใหญ่ที่สุด” คนในสังคมก็จะไม่มีมุมมองต่อคนชาติอื่นว่าด้อยกว่า ยิ่งใหญ่น้อยกว่า

Racism การเหยียดนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง?

  • กลุ่มคนที่ถูกเหยียดมีปัญหาสุขภาพ ยกตัวอย่างของประเทศแถบที่มีการจัดแบ่งคนเอาไว้เป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มได้รับการยกย่องให้คุณค่าลดหลั่นกันตั้งแต่ยกย่องให้คุณค่าสูงไปจนถึงถูกมองว่าไม่มีคุณค่าเลย กลุ่มคนที่ถูกเหยียดก็จะไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่ดีได้ เมื่อเกิดความเจ็บป่วยก็อาจจะไม่มีสถานพยาบาลไหนที่รับให้การรักษา ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะเครียดจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้
  • การเหยียดทำให้มีการเลือกปฏิบัติมากขึ้น กลุ่มคนที่ถูกเหยียดมักถูกเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น ชาติที่มีการวางสถานะของผู้หญิงไว้ต่ำกว่าผู้ชาย ก็จะมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น เช่น ไม่รับผู้หญิงเข้าทำงาน ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารได้ ยิ่งมีการเหยียดเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ การเลือกปฏิบัติก็จะยิ่งเกิดขึ้นในหลายมิติมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกเหนือไปจากการเลือกปฏิบัติแล้ว ก็อาจนำไปสู่การคุกคามได้มากขึ้นอีกด้วย เช่น ในสถานประกอบการที่มีการเหยียดผู้หญิงก็อาจจะมีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้บ่อย เพราะผู้ชายในองค์กรมีความเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องให้เกียรติผู้หญิง ซึ่งจากผลสำรวจในปี 2018 พบว่า ผู้หญิง 59% เคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

ทำอย่างไรจึงจะลดการเหยียดลงได้?

1. ปลูกฝังให้คนในสังคมมี empathy ฝึกคิดและรู้สึกในมุมของคนที่แตกต่างไปจากตนเอง แม้ตนเองจะไม่เคยอยู่ในจุดนั้นและไม่เคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกันนั้นมาก่อนเลยก็ตาม โดยอาจจะลองจินตนาการดูก็ได้ว่าถ้าเราเป็นเขาเราจะรู้สึกอย่างไรหากถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกคุกคามรังแก

2. จัดกิจกรรมทางสังคมให้คนที่มีความแตกต่างกันได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ตัวอย่างเช่น กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดจากไอเดียของกลุ่มคนที่ต้องการให้ ‘อคติ’ และ ‘ความคิดแบบเหมารวม’ ที่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหายไป โดยกิจกรรมนี้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศเดนมาร์กและดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 21 ปี

3. รณรงค์เกี่ยวกับการตระหนักรู้ในตนเอง สร้างสื่อหรือกระแสที่ชวนให้คนในสังคมฝึกสังเกตความคิดของตนเอง มีสติก่อนที่จะคิด-พูด-ทำอะไรออกไป และคอยสำรวจตรวจสอบว่าความคิดของตนเองมันสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่

4. ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับพฤติกรรมของคนในสังคมให้มีการเหยียดลดลง ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

แม้ว่าความเท่าเทียมกันเป๊ะ ๆ อาจจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรปล่อยให้ในสังคมมีการเหยียดเกิดขึ้นจนเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะในเชิงของความรุนแรงในสังคม การเลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสหรือรัฐสวัสดิการ ที่มักนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตซึ่งผลสุดท้ายทุกคนในสังคมก็จะต้องได้รับผลกระทบกลับคืนมาไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจากบุคคลที่ถูกเหยียดและกลายเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต หากยังนึกภาพตามไม่ออก ลองนึกถึงตัวละคร Joker เวอร์ชั่นปี 2019 ก็ได้ค่ะ


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Search

About

Lorem Ipsum has been the industrys standard dummy text ever since the 1500s, when an unknown printer took a galley of type and scrambled it to make a type specimen book.

Lorem Ipsum has been the industrys standard dummy text ever since the 1500s, when an unknown printer took a galley of type and scrambled it to make a type specimen book. It has survived not only five centuries, but also the leap into electronic typesetting, remaining essentially unchanged.